ป. อินทรปาลิต เป็นนามปากกาของ ปรีชา อินทรปาลิต (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 - 25 กันยายน พ.ศ. 2511) เป็นนักเขียน แนวหัสนิยาย บันเทิง ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือ พล นิกร กิมหงวน หรือ สามเกลอ
ปรีชา อินทรปาลิต เป็นบุตรชายคนที่สองของ พันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) และนางวิสิษฐพจนการ (ชื่น อินทรปาลิต) เกิดที่บ้าน ตำบลหลานหลวง อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453
ป. อินทรปาลิต ได้สมกับ นางสาวไข่มุกด์ ระวีวัฒน์ คุณข้าหลวงของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เมื่อ พ.ศ. 2472 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน คือ
นางไข่มุกด์ ภรรยา นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านและเป็นแม่ของลูก ๆ แล้ว เธอยังเป็นนักอ่านนวนิยายอย่างแท้จริงคนหนึ่ง เป็นผู้มีความรอบรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างดี ฉะนั้น จึงมีส่วนช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้แก่ ป. อินทรปาลิต ตลอดมา จนกระทั่งเธอได้ถืงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เมื่อ พ.ศ. 2491
ด้วยความปรารถนาของ พันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) ผู้เป็นบิดา ที่จะให้บุตรชายได้เป็นนายทหารเหมือนอย่างตัวท่าน เมื่อนายปรีชา อินทรปาลิต ได้รับการศึกษาชั้นมัธยมต้นแล้ว จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ซึ่งขณะนั้นยังแยกเป็น โรงเรียนนายร้อยประถมและมัธยม เป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับนายทหาร รุ่น 2474
แต่เนื่องจาก นายปรีชา อินทรปาลิต เป็นผู้มีนิสัยชอบความสนุกสนาน และรักชีวิตอิสระมาตั้งแต่เยาว์วัย จึงไม่อาจจะศึกษาต่อให้สำเร็จได้ ด้วยความเป็นผู้ชอบอ่านหนังสือ และได้มีโอกาสรู้จักกับนักประพันธ์ผู้ใหญ่หลายท่านในสมัยที่บิดาเป็นทั้งอาจารย์และบรรณาธิการหนังสือ "เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์" ทำให้มีใจรักการประพันธ์ และได้หัดเขียนเรื่องสั้น ๆ ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อลาออกจากโรงเรียนแล้ว ได้เข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้โอนไปอยู่กองทาง กรมโยธาเทศบาล ได้ใช้เวลาว่างเขียนหนังสืออยู่เสมอ และได้เคยส่งไปลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทน นอกจากความภูมิใจจากเรื่องสั้น ๆ กลายเป็นนวนิยายขนาดเล่มเดียวจบในสมัยนั้น เขียนแล้วเก็บไว้เป็นหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ได้อ่านกันทุกเรื่อง และทุกคนก็ลงความเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" เป็นเรื่องที่เขียนได้ดีที่สุด อาจจะเป็นเพราะเจ้าตัวมีแรงบันดาลใจมากกว่าเรื่องอื่น ด้วยเลือดเข้มของนักเรียนนายร้อยยังซ่อนเร้นอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ หาได้จืดจางไปตามกาลเวลาที่ผ่านไปไม่ ด้วยเรื่องสนับสนุนของวงศ์ญาติ นางไข่มุกด์ อินทรปาลิต ผู้เป็นภรรยา จึงได้นำต้นฉบับ "นักเรียนนายร้อย" ไปส่งยังสำนักพิมพ์เพลินจิต ของนายเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ได้รับไว้ด้วยความยินดี เมื่อพิมพ์ออกมาจำหน่ายปรากฏว่าหนังสือขายได้เป็นจำนวนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญในหมู่นักอ่านทั่วไป นับว่า "นักเรียนนายร้อย" เป็นผู้มอบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในความเป็นนักประพันธ์ให้แก่ ป. อินทรปาลิต สำนักพิมพ์รีบส่งผู้แทนมาติดต่อขอซื้อเรื่องต่อไปโดยด่วน นับแต่นั้นเรื่อยมาเรื่องของ ป. อินทรปาลิต ก็ทะยอยออกสู่ตลาดเรื่อย ๆ สำนักพิมพ์อื่น ๆ ก็ติดต่อขอซื้อเรื่องอีกหลายต่อหลายแห่งด้วยกัน
ป. อินทรปาลิต เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนโสมนัสและเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยฝ่ายประถม รุ่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และเมื่อเรียนถึงชั้นปีที่สองฝ่ายชั้นมัธยม เกิดความรู้สึกว่าไม่ชอบอาชีพทหาร จึงขอลาออกจากโรงเรียนนายร้อย แต่ระบุในอัตตชีวประวัติของ ป.อินทรปาลิต ที่เขียนด้วยตนเอง เปิดเผยว่า เรียนโรงเรียนนายร้อย รุ่นเดียวกับ จอมพล ถนอม กิตติขจร และ มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรุ่นพี่ และตนเองเรียนตกซ้ำชั้น 2 ปี เพราะต้องการรอเรียนกับเพื่อน เลยต้องรีไทร์จากโรงเรียนนายร้อย
ป. อินทรปาลิต ได้ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจาก นายแพทย์เดวิด เคนนี่ ผู้เป็นบุตรเขย อาการของโรคในระยะปีแรก ๆ ก็ไม่ร้ายแรงอะไรนัก
ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 อาการป่วยของ ป. อินทรปาลิต กำเริบขึ้น ถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การป่วยครั้งนี้มีอาการทางหัวใจและโรคปอดเข้าแทรก คณะแพทย์ได้ทำการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด ได้พักรักษาตัวอยู่ประมาณหนึ่งเดือน แพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2511 อาการของโรคเดิมได้กำเริบขึ้น จึงได้กลับเข้ารักษาตัว ณ ที่เดิมอีก คราวนี้รักษาตัวนานถึงสองเดือนเศษ และเมื่อทุเลาก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาอยู่บ้าน มีอาการกำเริบบ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็หายไป เป็นเช่นนี้เสมอมา และเนื่อจากชีวิตในบั้นปลายของ ป. อินทรปาลิต ต้องอยู่บ้านตามลำพัง เพราะบุตรชายหญิงทั้งคู่ต้องทำงานประกอบอาชีพ และแยกไปมีครอบครัวกันแล้วทั้งสิ้น ทั้งปราณีผู้เป็นภรรยา ก็ทำงานอยู่ ณ ร้านจำหน่ายหนังสือ ไม่สามารถจะลาหยุดบ่อย ๆ ได้ อาการป่วยเรื้อรังเช่นนี้ ควรจะได้มีผู้ดูแลประจำอยู่ พอดีกับน้องสาวและน้องเขย (นายชูชัย พระขรรค์ชัย) ของภรรยา ได้แสดงความมืน้ำใจเอื้อเฟื้อ ขอรับ ป. อินทรปาลิต ไปพักอยู่ด้วยกันที่บ้านของตนที่ซอยโชคชัย เพื่อจะได้มีโอกาสช่วยดูแลพยาบาล เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ ป. อินทรปาลิต ได้มีต่อครอบครัวของตนอย่างดียิ่งมาช้านาน ซึ่งน้องสาวของภรรยาให้ความคารวะพี่เขยเสมอด้วยบิดาตน
โดยปกติแล้ว ป. อินทรปาลิต เป็นผู้ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากใครง่าย ๆ หากด้วยความเอ็นดูน้องภรรยาที่ ป. อินทรปาลิต เคยอุปถัมภ์มาตั้งแต่เยาว์วัย จึงยอมรับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตานั้น โดยได้ย้ายไปอยู่ ณ บ้านหลังดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2511 อย่างไรก็ดี ป. อินทรปาลิต เป็นผู้มีทิษฐิในการยืนอยู่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แม้จะเจ็บป่วยสักเพียงไรก็ยังสามารถหารายได้จากการเขียนหนังสือเลี้ยงครอบครัว อาจจะกล่าวได้ว่าตราบจนลมหายใจครั้งสุดท้าย โดยปราณีผู้เป็นภรรยาได้รับเงินค่าเรื่องจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในตอนเช้าของวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2511 และเมื่อเวลา 18.15 น. ของวันเดียวกัน ป. อินทรปาลิต ก็ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบด้วยอาการหัวใจวาย จะมีใครทราบล่วงหน้าก็หาไม่ รวมสิริอายุได้ 58 ปี
ป. อินทรปาลิต ได้รับการฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512